ความเป็นมาหมีแพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่

ความเป็นมาหมีแพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่

          โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 โดยเริ่มมาจาก ในปี พ.ศ. 2544 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้เดินทางไปราชการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ ไมตรีระหว่างประเทศ
           ต่อมาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แจ้งว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ให้ประเทศไทย และวันที่ 22 ตุลาคม 2544 รัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ และมอบหมายให้ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ซึ่งต่อมามีการประชุมและดำเนินการ ภายใต้โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2545 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจำนวน 39,818,313 บาท เป็นค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า และมอบหมายให้กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลา 210 วัน
 

องค์การสวนสัตว์เตรียมจัดงานวันเกิด และนับถอยหลังหลินปิงอำลาประเทศไทย

          ขณะนี้ก็เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งปีเศษก็จะครบกำหนดที่จะต้องส่งคืนแพนด้าน้อยหลินปิงให้แก่ประเทศจีน เมื่อแพนด้าน้อยหลินปิงมีอายุครบ ๔ ปีในปีหน้า ซึ่งก็คือวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ องค์การสวนสัตว์ จึงเห็นสมควรที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการระลึกถึงความสำเร็จของประเทศไทยที่สามารถเลี้ยงดูหมีแพนด้าและเพาะขยายพันธุ์จนกำเนิดเป็นแพนด้าน้อยหลินปิง ที่เป็นที่รักและเป็นขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศมาโดยตลอด โดยมีแนวคิดที่จะเชิญชวนทุกๆภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงความร่วมแรงร่วมใจ และเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศจีนที่เป็นเจ้าของหมีแพนด้า ตลอดจนให้เหล่าบรรดาแฟนคลับของหลินปิงได้มีโอกาสแสดงความรักและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆจนกว่าจะถึงวันที่หลินปิงต้องเดินทางไปประเทศจีน และยังจะเป็นการกระตุ้นกระแสการท่องเที่ยวให้คึกคักมากยิ่งขึ้น โดยองค์การสวนสัตว์ จะเริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมฉลองวันเกิดอายุ ๓ ปี ให้แก่แพนด้าน้อยหลินปิงในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ และหลังจากนั้นก็จะจัดกิจกรรมนับถอยหลังแพนด้าน้อยหลินปิงอำลาประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ เป็นต้นไป โดยจะจัดกิจกรรมที่หลากหลายต่อเนื่องไปในแต่ละเดือน โดยจะจัดทำเป็นปฏิทินกิจกรรมประจำเดือน ว่าในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง ซึ่งจะมีทั้งกิจกรรมใหญ่กิจกรรมเล็ก กิจกรรมที่ใช้ระยะเวลาสั้นและยาว ตามความเหมาะสมในแต่ละเดือน จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยจะขอให้จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และชาวจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เชิญชวนทุกๆภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา อาทิ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัท ห้างร้าน โรงแรม ภัตตาคาร โรงเรียน สมาคม ชมรม ต่างๆทั้งภายในจังหวัดเชียงใหม่ และทั่วประเทศ


"ทูตสันถวไมตรี”

          อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ไม่มีการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรีอีกต่อไป แต่จีนมีการเสนอที่จะส่งแพนด้ายักษ์ไปยังชาติอื่นโดยให้ยืมเป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน
 

ประวัติ ช่วงช่วง หลินฮุ่ย 

          ช่วงช่วง (อักษรจีนตัวย่อ: 创创, ShuangShuang) เป็นชื่อของแพนด้ายักษ์เพศผู้ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ประเทศไทยยืมจัดแสดงที่ สวนสัตว์เชียงใหม่ ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีนโดยจัดแสดงคู่กับ หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์เพศเมีย ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546มีชื่อไทยว่า "เทวัญ” และมีชื่อล้านนาว่า "คำอ้าย”
           ช่วงช่วง เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2543ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวนสาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดจากแพนด้าตัวผู้ชื่อ ชิงชิง และแพนด้าตัวเมียชื่อ ไป่แฉว
          หลินฮุ่ย (ภาษาจีน: 林惠, Lin Hui)เป็นชื่อของแพนด้ายักษ์เพศเมีย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ประเทศไทยยืมจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เป็นเวลา 10 ปี โดยจัดแสดงคู่กับช่วงช่วง แพนด้ายักษ์เพศผู้ ตั้งแต่วันที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 มีชื่อไทยว่า"เทวี” และมีชื่อล้านนาว่า "คำเอื้อย”
          หลินฮุ่ย เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2544ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวนสาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดจากแพนด้าตัวผู้ชื่อ Pan Pan (Studbook number:308)และแพนด้าตัวเมียชื่อ Tang Tang (Studbook number:446)