สวนชมนกนครพิงค์สวนสัตว์เชียงใหม่
สวนชมนกนครพิงค์ได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2535 ใช้งบประมาณ 4.4 ล้าน และเปิดให้ประชาชนเข้าเที่ยวชมในปี พ.ศ. 2538 โดยการสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์นกท้องถิ่น และนกต่างประเทศหลายสิบชนิด เช่น นกชนหิน นกกาบบัว เหยี่ยวชนิดต่าง ๆ รวมถึงนกกลางคืน เช่น นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล นกทึดทือพันธุ์เหนือ เป็นต้น รวมจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1,500 ตัว มีบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยของนกสายพันธุ์ต่างๆปกคลุมด้วยตาข่ายเนื้อที่ 6 ไร่ ภายในยังคงสภาพของผืนป่าในอุทยานดอยสุเทพ-ปุย ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่ มีน้ำตกและ ลำธารไหลผ่านภายในพื้นที่ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถ เดินเข้ามาชมความสวยงามของ นกหลากหลายสายพันธุ์ภายในสวนชมนกนครพิงค์ ได้
หลังจากเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลา 14 ปี สวนชมนกนครพิงค์ก็เริ่มเกิดความชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุฝนพัดกระหน่ำจนเกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้ามาโดยได้พัดเอา ดิน หิน ทราย กิ่งไม้ และต้นไม้ใหญ่ ผ่านเข้ามาตามทางน้ำตกธรรมชาติกู่ดินขาวที่อยู่ในสวนชมนกนครพิงค์ และหลังจากที่พายุได้พัดผ่านไป เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เชียงใหม่ได้เข้าไปสำรวจสถานที่อย่างละเอียดก็พบว่าบานประตูทางเข้าออกและตาข่ายที่ครอบคลุมบริเวณโดยรอบไว้พังเสียหายลงหลายแห่ง
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 สวนสัตว์เชียงใหม่จึงได้รับงบประมาณ จำนวน 20.3 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการสร้างและปรับปรุงสภาพพื้นที่รวมทั้งระบบนิเวศภายใน สวนชมนกนครพิงค์ เพื่อให้เป็นสถานที่รวบรวมนกสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วโลกที่มีความสำคัญต่อการศึกษาวิจัยทางด้านการอนุรักษ์มาไว้ภายในสถานที่แห่งนี้ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 1 ปี 2 เดือน
มิติใหม่ของการเปิดให้บริการสวนชมนกนครพิงค์
ในเชิงอนุรักษ์และการจำลองระบบนิเวศ
ระบบนิเวศ(Ecosystem) ถือเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เพราะประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด มีการแลกเปลี่ยนสสาร แร่ธาตุ และพลังงานกับสิ่งแวดล้อม โดยผ่านห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) มีลำดับของการกินเป็น ทอด ๆ ทำให้สสารและแร่ธาตุมีการหมุนเวียนไปใช้ในระบบจนเกิดเป็นวัฏจักร ทำให้มีการถ่ายทอดพลังงานไปตามลำดับขั้นเป็นช่วง ๆในห่วงโซ่อาหารได้ การจำแนกองค์ประกอบของระบบนิเวศ ส่วนใหญ่จะจำแนกได้เป็นสององค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ องค์ประกอบที่มีชีวิตและองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต
ชีวิตสัมพันธ์ การจำลองระบบนิเวศภายในสวนชมนกนครพิงค์
สวนสัตว์เชียงใหม่ได้ทำการจำลองระบบนิเวศทั้งในส่วนขององค์ประกอบที่มีชีวิตคือ สัตว์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ปีกหลากหลายสายพันธุ์, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กชนิดต่างๆ เช่น กระจง เก้ง กวางขนาดเล็ก หมีขอ กระรอก กระต่าย, สัตว์น้ำประเภทปลา เช่น ปลาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติบริเวณป่าต้นน้ำ ปลาสวยงามขนาดใหญ่ เช่น ปลาคาร์ฟ รวมทั้งต้นไม้ใหญ่และพันธุ์ไม้ดอกไม้ใบ ต่างๆ มาจัดสมดุลจำลองระบบนิเวศตามธรรมชาติไว้กับองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต
อันมีระบบน้ำและระบบการถ่ายเทอากาศบริสุทธิ์เป็นปัจจัยหลัก สำหรับการจัดระบบน้ำนั้น ได้มีการขุดลอกและปรับปรุงสายน้ำตกธรรมชาติกู่ดินขาวอันมีสารอาหารและแร่ธาตุจากธรรมชาติผสมอยู่ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตได้ดื่มกินและสันดาปเข้าไป มีการจัดทำระบบน้ำตกขนาดใหญ่เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้อากาศได้มีการถ่ายเทเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการจัดทำระบบพ่นละอองน้ำลงมาจากโครงสร้างด้านบนเพื่อสร้างความชุ่มชื้นตามธรรมชาติให้กับสัตว์และพืชทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนสสาร แร่ธาตุ และพลังงานที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม โดยผ่านระบบนิเวศจำลองภายในสวนชมนกนครพิงค์ สวนสัตว์เชียงใหม่ แห่งนี้
มิติใหม่ของการเปิดให้บริการสวนชมนกนครพิงค์ คือ การะบบนิเวศเชิงอนุรักษ์ จากสภาพธรรมชาติ ในการอาศัยอยู่ร่วมกันของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีถิ่นอาศัยในบริเวณป่าต้นน้ำ ดอยสุเทพ-ปุย มาไว้ในสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความผาสุก ภายใน สวนชมนกนครพิงค์แห่งนี้ เพื่อให้เป็นสถานที่ให้การศึกษาเกี่ยวกับระบบชีววิทยา และพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของนกหลากหลายชนิดภายในสวนชมนกนครพิงค์ และเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ในด้านนิเวศวิทยาของสัตว์ปีกกว่า 132 ชนิด รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3,093 ตัว ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้นการเที่ยวชมมิติใหม่ สวนชมนกนครพิงค์นี้ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำ โดยไม่ต้องเดินทางไกล หรือต้องเดินป่าอีกต่อไป
สวนชมนกนครพิงค์ อัญมณีที่เปล่งประกายความงามแห่งธรรมชาติ
มนต์เสน่ห์แห่งความงามของภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม
เมื่อผ่านประตูด้านหน้าของสวนชมนกนครพิงค์เข้าไป ทุกท่านจะได้สัมผัสถึงความเย็นอันเป็นธรรมชาติของพื้นที่ป่าดิบชื้น น้ำตกที่ไหลพรั่งพรูลงมาปะทะกับแก่งหิน ทำให้เกิดละอองน้ำเล็กๆกระเซ็นซ่านขึ้นมา ยิ่งทำให้ความรู้สึกชุ่มชื่นนั้นมากล้นทวีคูณ ความหอมสดชื่นของหมู่มวลพรรณไม้ดอกนานาชนิดล่องลอยรัญจวนไปมาอยู่ในอากาศ สูดดมกลิ่นอันหอมหวนและ ชื่นชมความงามที่แท้จริงของพฤกษาธรรมชาติที่รายรอบตัวอยู่นั้นช่างสร้างความประทับใจได้อย่างมิรู้ลืมเลือน
นกนานาชนิดส่งเสียงเจื้อยแจ้วขับกล่อมดั่งเสียงดนตรีแห่งไพรพฤกษ์ แผ่วพลิ้วเสียงขับขานก้องกังวานแจ่มใสของเหล่าปักษา ดั่งเสียงบรรเลงบทเพลงขับกล่อมจิตใจแห่งไพรพฤกษ์พนา เสียงหวานแว่วเจื้อยแจ้วอภิรมย์ล่องลอยตามสายลมมา ช่วยปัดเป่าความว้าวุ่นสับสนให้เหือดหายจางไป เหลือไว้เพียงแต่ความรู้สึกสุนทรผ่อนคลาย ทุกครั้งเมื่อได้มาสัมผัส