“รู้หรือไม่” กวางผา มี 6 ชนิดย่อย คือ 1) Naemorhedus goral พบในแถบเทือกเขาหิมาลัย บริเวณอินเดีย เนปาล ภูฏาน และตอนเหนือของปากีสถาน 2) Naemorhedus caudatus พบทางตะวันออกของรัสเซีย จีนและเกาหลี 3) Naemorhedus baileyi พบในเขตยูนานของจีน ทิเบต อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และทางเหนือของพม่า 4) Naemorhedus griseus พบในพม่า จีน อินเดีย ไทย และอาจพบได้ในลาว 5) Naemorhedus cranbrooki พบในรัฐอัสสัมและทางตอนบนของประเทศเมียนมาร์ 6) Naemorhedus evansi พบทางเหนือของจีนจนถึงเมืองกุ้ยโจวตอนใต้ของจีน และบางส่วนบริเวณทางตอนใต้ของประเทศพม่า กวางผาเป็นสัตว์กีบคู่ มีลักษณะภายนอกคล้ายกับแพะ รูปร่างปราดเปรียว มีต่อมที่หัวตา และที่กีบเท้ามีไว้เพื่อไว้ถูกับต้นไม้เพื่อประกาศอาณาเขต (Territory) ลำตัวขนาดกลางจนถึงขนาดเล็ก ลำตัวสั้น คอเล็ก ขาสั้น ใบหูยาว และสีขนด้านนอกของใบหูมีสีแดงปนน้ำตาล ขนด้านในใบหู ยาวสีขาว สีขนบริเวณแก้ม ใต้คาง ลำคอสีขาว จมูกสีดำไม่มีขน ขนบนลำตัวยาว และหยาบ น้ำตาลแดงถึงน้ำตาลดำ ขนตรงกลางระหว่างเขาทั้ง 2 ข้างเป็นแผงหนาแข็งสีดำพาดผ่านกลางหลังไปถึงหาง ขนส่วนล่างของลำตัวจะอ่อนนุ่ม และจะมีสีจางกว่าขนบนลำตัว หางสั้นเป็นพวงสีดำ สีขนบริเวณโคนขาทั้ง 4 ข้าง มีสีน้ำตาลแดงลงมาถึงหัวเข่า ใต้หัวเข่าลงมาสีขนมีสีขาว ลักษณะคล้ายกำลังสวมถุงเท้า กีบเท้าเป็นแบบกีบคู่ โดยกีบที่ 1 และ 4 จะมีขนาดเล็กและอยู่สูงขึ้นไปทางด้านหลัง กวางผามีฟัน 32 ซี่ กวางผามีเขา 1 คู่ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตลอดชีวิตของกวางผาจะมีเขาคู่เดียว คือ ไม่ผลัดหรือแตกกิ่งเหมือนเขากวาง เขาจะมีลักษณะเป็นกรวยแหลม โค้งไปทางด้านหลัง และตรงกลางกรวยจะกลวง ตรงบริเวณโคนเขาจะมีรอยหยักซึ่งจะเกิดรอยหยักที่เพิ่มขึ้นตามอายุของกวางผา กวางผาไต่หน้าผาเก่ง ว่ายน้ำเป็น ชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอดำ, เผ่าม้ง เรียกกวางผา ว่า “ม้าเทวดา” พาหนะของพระเจ้า เพราะทักษะในการเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่วไปตามหน้าผาชัน ๆ กวางผามักถูกล่าเพราะเชื่อว่าน้ำมันกวางผา มีสรรพคุณใช้เป็นยาสมานกระดูกได้
ภูเขาสูงชันทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับความสูงและความลาดชันมาก หน้าผาเปิดโล่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้าตามหน้าผา ไร่ร้าง หย่อมป่าตามร่องเขา ที่ระดับความสูง 1,000–4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยพบที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย จ. แม่ฮ่องสอน
เป็นสัตว์กินพืช พวกพืชตระกูลหญ้า, พืชตระกูลถั่ว, ยอดอ่อนของใบไม้, รากไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกก่อเป็นอาหารหลัก รวมทั้งกินดินโป่งด้วย ในช่วงที่อาหารสมบูรณ์กวางผามักเลือกกินเฉพาะยอดอ่อนของพืช ส่วนในฤดูแล้งมักกินพืชที่มีลำต้นอวบน้ำ (พืชในวงศ์เทียน เช่น เทียนเชียงดาว, เหยื่อเลียงผา และเอื้องคำหิน) มากกว่าปรกติ
เป็นสัตว์สังคม มักอาศัยและหากินรวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 4–12 ตัว หากินตามทุ่งหญ้าบนภูเขา และชะง่อนผาบนเทือกเขาสูง ที่มีระดับความสูง ประมาณ 1,000–4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในช่วงเช้า พอสาย ๆ จะมาจับกลุ่มนอนอาบแดด (Sunbath), เคี้ยวเอื้อง อยู่บนก้อนหิน ช่วงบ่าย ๆ จะวิ่งเล่น และหากินอีกรอบ เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้องสั้นและสูงเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงตัวอื่น ๆ ในฝูง มักถ่ายมูลซ้ำที่เดิมเพื่อประกาศอาณาเขต หากมีกลิ่นและเสียงผิดแปลกไปกวางผาจะยืนนิ่ง ร้อง และยกขาหน้าขึ้นใช้กีบกระทืบดิน
1. เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับ พ.ศ. 2562 2. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered: CR) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2025)
CLASS : Mammalia
ORDER : Artiodactyla
FAMILY : Bovidae
GENUS : Naemorhedus
SPECIES : Naemorhedus griseus
อายุขัย ประมาณ 10–11 ปี
ผสมพันธุ์ ประมาณ เดือนตุลาคม–ธันวาคม ใช้เวลาตั้งท้องนาน ประมาณ 6–8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว มีเต้านม 4 เต้า
ความยาวลำตัว (หัวถึงก้น) ประมาณ 82–130 เซนติเมตร หางยาว ประมาณ 7.6–20 เซนติเมตร หูยาว ประมาณ 10–14 เซนติเมตร ความสูงระดับไหล่ ประมาณ 50–78 เซนติเมตร น้ำหนัก ประมาณ 22–32 กิโลกรัม
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560