ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน บนหัวและคอ เป็นหนังสีชมพูปนน้ำตาล มีขนประปรายไม่กี่เส้น ด้านข้างของคอจะมีสีดำคล้ายหนังตกกระ มีขนปุยสีขาวขึ้นรอบคอและไหล่ลักษณะคล้ายพวงมาลัย ขนปีกและหางสีดำ ขนใต้คอ และอกสีขาว ลักษณะเด่นชัดของนกตะกรามคือมีถุงลมคล้ายลูกโป่งห้อยอยู่ที่หน้าอก ถุงนี้ยืดหดได้
พบในอินเดีย ไทย พม่า ลาว เวียดนาม ในประเทศไทยพบตามชายน้ำ ทุ่งนาและทุ่งหญ้า ในอดีตพบเกือบทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ แต่ปัจจุบันแทบไม่พบในธรรมชาติ
นกตะกรามเป็นนกที่กินไม่เลือกทั้งปลา กุ้ง กบ เขียด งู และซากสัตว์เน่าเหม็น บางครั้งเข้าไปแย่งกินอาหารจากพวกนกแร้งด้วย
ชอบหากินอยู่ตามหนองน้ำ ทุ่งนา ทะเลสาบ ที่โล่ง เป็นนกที่ไม่ส่งเสียงร้อง มักบินร่อนวนอยู่บนท้องฟ้าเช่นเดียวกับนกเหยี่ยวและนกแร้ง ชอบอยู่ตามลำพังหรือเป็นฝูงเล็ก ๆ มีการอพยพย้ายถิ่นไปมาระหว่างอินเดีย ไทย และกัมพูชา
เป็นนกประจำถิ่น และอพยพมาในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ แต่ปัจจุบันพบเห็นได้ยาก จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
นกตะกรามผสมพันธุ์ในช่วงเดือนตุลาคม - มีนาคม ทำรังอยู่บนต้นไม้สูงหรือยอดเขาหินปูน โดยนำกิ่งไม้แห้งมาสานกันหยาบๆ ตรงกลางเป็นแอ่ง มักทำรังอยู่บนต้นไม้เดียวกันหลายรัง ปะปนกับรังนกชนิดอื่น ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ในฤดูผสมพันธุ์ แผ่นหนังของลำคอมีถุงสีแดงจัด
อยู่ในวงศ์นกกระสาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย โดยมีขนาดลำตัวประมาณ 145 เซนติเมตร
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560