วัวแดง(วัวเพาะ หรือ วัวดำ)/Banteng (Bos javanicus)

สิ่งที่น่าสนใจ :

เป็นวัวป่าชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายวัวบ้าน แต่มีลักษณะสำคัญที่ต่างไปจากวัวบ้านและกระทิงคือ มีวงก้นขาวกว้างเกือบครึ่งตะโพกจั้งแต่โคนหางลงไปเป็นวงโค้งลงไปที่ตะโพกเกือบถึงข้อเท้าทั้งในตัวผู้และตัวเมีย เป็นรูปใบโพธิ์ มีเส้นขาวรอบจมูก และรอบดวงตา ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้าดูคล้ายสวมถุงเท้าขาว ระหว่างโคนขาของตัวผู้ไม่มีขน แต่เป็นหนังตกกระแข็ง ๆ บรรทัดหลังมีขนสีน้ำตาลดำตั้งแต่บริเวณสันหลังถึงโคนหาง มีหนังหย่อนใต้คอซึ่งเรียกว่า “พืม” หางยาว ปลายหางเป็นพู่สีน้ำตาลดำ เขาของวัวแดงทั้งสองเพศต่างกันดังนี้ เพศผู้มีเขาขนาดใหญ่ ปลายเขาแหลมสีดำกางออกไปกว้าง ส่วนปลายสุดของเขามีสีเหลืองทอง เมื่ออายุมากขึ้นวงแหวนบริเวณฐานซึ่งเรียกว่า “พาลี” จะมีมากขึ้น วงแหวนแรกบนฐานเขาจะเกิดขึ้นเมื่ออายุได้ 4 ปี และจะเกิดบนฐานเขาทุกปี ปีละหนึ่งวง ระหว่างโคนเขาของเพศผู้ไม่มีขนมีแต่หนังตกสะเก็ดเรียกว่า “กระบังหน้า” เขาของเพศเมียมีสีดำที่โคนและสีเหลืองทองที่บริเวณฐาน ขนาดของเขาเล็กกว่าเพศผู้ เขาจะโค้งกลับด้านหลังปลายเขาโค้งเข้าหากันบิดไปข้างหลังเล็กน้อยเมื่ออายุมากขึ้นบริเวณฐานเขามีลักษณะคล้ายวงแหวนแต่ไม่นูนเด่น ปลายเขาแหลมและงอมากกว่าในเพศผู้

ถิ่นอาศัย :

พบในพม่า ไทย อินโดจีน ชวา บอร์เนียว เกาะบาหลี ซาราวัค เซลีเบส สำหรับประเทศไทยเคยพบได้ทุกภาค หากินในป่าโปร่งผสม

อาหาร :

วัวแดงกินหญ้าอ่อน ๆ ใบไผ่อ่อน หน่อไม้อ่อน ลูกไม้ป่าบางชนิด ใบไม้ ยอดอ่อนของพืช และดอกไม้ป่าบางชนิด

พฤติกรรม :

ชอบหากินอยู่เป็นฝูง ไม่ใหญ่นัก ราว 2-25 ตัว หรือมากกว่า ปกติจะเริ่มออกหากินตั้งแต่ตอนพลบค่ำไปจนถึงเช้าตรู่ กลางวันนอนหลบตามพุ่มไม้ทึบ ชอบอยู่ตามป่าโปร่งหรือป่าทุ่ง ชอบกินดินโป่งไม่ชอบนอนแช่ปลัก รักสงบ ปกติไม่ดุร้าย หากินโดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง มีพฤติกรรมการกินอาหารสัมพันธ์กับการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย และสัมพันธ์กับสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไปฤดูกาลต่าง ๆ วัวแดงซึ่งไม่มีฟันหน้าและฟันเขี้ยวติดที่ขากรรไกรบน การเล็มหญ้าจึงอาศัยลิ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้ลิ้นม้วนรัดใบหญ้า ต้นหญ้า และดึงเข้าปาก

สถานภาพปัจจุบัน :

สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์

อนุกรมวิธาน

CLASS : Mammalia

ORDER : Cetartiodactyla

FAMILY : Bovidae

GENUS : Bos

SPECIES : ฺBos javanicus

สถานะภาพทางการอนุรักษ์ : สัตว์ป่าคุ้มครอง

อายุเฉลี่ย :

มีอายุยืนประมาณ 30 ปี

วัยเจริญพันธุ์ :

ผสมพันธุ์ในระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน วัวแดงเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปีเศษ ระยะตั้งท้องนาน *-10 เดือน ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกหย่านมเมื่อมีอายุราว 9 เดือน หลังคลอดลูกราว 6-9 เดือน แม่วัวแดงจะเป็นสัดและรับการผสมพันธุ์อีก

ขนาดและน้ำหนัก :

ความยาวลำตัวและหัวประมาณ 190 - 255 เซนติเมตร หางยาว 65 - 70 เซนติเมตรสูงประมาณ 155 - 165 เซนติเมตร และมีน้ำหนักราว 600 - 800 กิโลกรัม

ข้อมูลอ้างอิง :

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถานที่ชม :


แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560