“รู้หรือไม่” เนื้อทราย มี 2 ชนิดย่อย คือ 1. Axis porcinus porcinus อาศัยอยู่ตามที่ราบอินโด–คงคาของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ภาคเหนือของสาธารณรัฐอินเดีย, สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงตะวันตกของราชอาณาไทย 2. Axis porcinus annamiticus ตัวใหญ่กว่า Axis porcinus porcinus เล็กน้อย พบในภาคตะวันออกและภาคอีสานตอนใต้ของราชอาณาไทย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา เนื้อทรายเป็นสัตว์กีบคู่ เป็นกวางขนาดเล็ก มีใบหน้าสั้น ดวงตาอยู่ด้านข้างของหัว ทำให้มองเห็นได้กว้าง 310 องศา มีเส้นสีดำพาดตามแนวสันหลัง ตั้งแต่คอไปจนถึงโคนหาง ใบหูกลม รูปร่างอ้วนป้อม ขาสั้น ขาหลังยาวกว่าขาหน้า เนื่องจากกระดูกสะโพกสูง กว่ากระดูกหัวไหล่ ขนสั้นหยาบและหนา สีน้ำตาลเข้มในฤดูหนาว และเปลี่ยนเป็นสีเทาในฤดูร้อน มักจะมีจุดสีอ่อนเรียงกันเป็นแถวสม่ำเสมอตลอดทั้ง 2 ข้างของแถบหลัง ตั้งแต่ไหล่ถึงสะโพก ปลายขนมีสีขาว หางสั้นเป็นพวงสีน้ำตาล ปลายหางมีขนยาวสีขาว มีต่อมกลิ่น (Preorbital gland) บนใบหน้าบริเวณใต้ตา ขาหลัง และรอยแยกของกีบหลัง มีเขาเฉพาะตัวผู้ มีกิ่งข้างละ 3 กิ่ง ยาว ประมาณ 60 เซนติเมตร ตัวเมียไม่มีเขา เนื้อทราย เคยเป็นสัตว์ป่าสงวน 1ใน 9 ชนิด (แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เนื้อทราย เลียงผา และกวางผา) ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ต่อมา ได้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับเดิมและตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ขึ้นใหม่ และเพิ่มเติมสัตว์ป่าสงวน เป็น 15 ชนิด (นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผา นกแต้วแร้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ และพะยูน) เนื่องจากเนื้อทรายเป็นสัตว์ป่าที่ไม่อยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์ และสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้สำเร็จ และปล่อยเนื้อทรายคืนสู่ธรรมชาติครั้งแรกในปี 2526 โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาให้ถอดเนื้อทรายออกจากการเป็นสัตว์ป่าสงวน ปัจจุบันจึงมีสถานะเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ตามคติของคนไทย ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีนัยน์ตาสวย จึงมีคำเปรียบเปรยว่า “ตาสวยดังเนื้อทราย” ชื่อวิทยาศาสตร์ Porcus เป็นภาษาละติน แปลว่า “หมู” และ inus แปลว่า “เหมือน” ชาวต่างชาติเรียก Hog Deer หรือ กวางหมู ก็เพราะลักษณะเวลาวิ่งจะไม่ยกหัวสูง ไม่วิ่งกระโจนเหมือนกวางอื่น ๆ ไม่ วิ่งอย่างกับหมูป่า
พบในทวีปเอเชีย ในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, ราชอาณาจักรภูฏาน, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐอินเดีย, สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล และสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน บริเวณที่ราบลุ่มที่น้ำท่วมถึง ทุ่งหญ้า (หญ้าคา) พืชวงศ์กก อ้อ ตัวผู้ มีพื้นที่อาศัย (Home ranges) ประมาณ 312–500 ไร่ ตัวเมีย มีพื้นที่อาศัย (Home ranges) ประมาณ 250–375 ไร่
เป็นสัตว์กินพืช ประมาณ 56 ชนิด 14 สกุล ส่วนใหญ่เป็นพืชวงศ์หญ้า (Gramineae) 21 ชนิด เช่น หญ้าหวาย, หญ้าขม และหญ้าไผ่ใบคม, พืชวงศ์กก (Cyperaceae) 13 ชนิด เช่น หญ้าหนวดแมว, กกกาบเขียว และกกกอ, หญ้าดอกคำ (Hypoxidaceae) 1 ชนิด พืชสมุนไพร 9 ชนิด เช่น โคลงเคลงญวน, ปอขี้อ้น และมะไฟนกคุ่ม, ต้นไม้ 6 ชนิด เช่น อินทนิลน้ำ และไม้พุ่ม ไม้เถา 5 ชนิด เฟิร์น 1 ชนิด เช่น ย่านลิเภา
อาศัยอยู่ตามลำพังเกือบทั้งปี บางครั้งหากินเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 2–3 ตัว อาจรวมเป็นกลุ่มใหญ่ ประมาณ40–80 ตัว มักหากินในตอนเช้าตรู่เวลา ประมาณ 05.00–06.00 น.และตอนเย็น เวลา ประมาณ 17.00–18.00 น. ตัวผู้จะรวมตัวกันในทุ่งหญ้าเปิด ช่วงเที่ยงวันพักผ่อนอยู่ในดงหญ้าสูง ปกติเป็นสัตว์ประจำถิ่นไม่อพยพ เมื่อพบศัตรูจะวิ่งหนี ไม่กระโดด เมื่อรู้สึกถึงอันตรายจะยกหางขึ้นทำให้มองเห็นขนสีขาวได้ เพื่อเตือนตัวอื่น ถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น และมักจะหนีลงน้ำ หรือวิ่งเข้าไปในพุ่มไม้รกมักซุกหัวลงต่ำ
1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2015) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2025)
CLASS : Mammalia
ORDER : Artiodactyla
FAMILY : Cervidae
GENUS : Axis
SPECIES : Axis porcinus
อายุขัย ประมาณ 20 ปี
จับคู่แบบตัวผู้ตัวเดียวกับตัวเมียหลายตัว ตัวผู้ไม่ได้สร้างฮาเร็ม จะผสมพันธุ์กับตัวเมียทีละตัว ตัวเมีย โตเต็มที่เมื่ออายุ ประมาณ 8–12 เดือน ตัวผู้ โตเต็มที่เมื่ออายุ ประมาณ 14–16 เดือน เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่ออายุ ประมาณ 2 ปี ฤดูผสมพันธุ์ ประมาณเดือนกรกฎาคม–พฤศจิกายน ตั้งท้อง ประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ประมาณเดือน พฤษภาคม–กรกฎาคม น้ำหนักลูกแรกเกิด ประมาณ 2–3 กิโลกรัม ลูกเกิดใหม่ขนสีเหลืองปนทราย จุดสีขาวตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจึงจางหายไป เมื่ออายุ ประมาณ 6 เดือน จะ ค่อย ๆ เปลี่ยนขนเป็นสีน้ำตาลมะกอกเข้ม ปลายขนมีสีขาว หย่านมเมื่ออายุ ประมาณ 6 เดือน ลูกที่เกิดใหม่ ๆ หลังจากดูดนมแม่แล้ว จะนอนนิ่งอยู่ในพงหญ้า หรือบริเวณที่มีกิ่งไม้ ใบไม้รกทึบ เพื่อพรางตัวจากสัตว์อื่น ๆ ไม่ให้สังเกตเห็น แม่เนื้อทรายจะออกไปหากินไม่ไกลนัก และจะมาให้ลูกกินนมเป็นครั้งคราว
ลำตัวยาว (จากปลายจมูกถึงโคนหาง) ประมาณ 105–150 เซนติเมตร ความสูงที่ระดับไหล่ ประมาณ 60–75 เซนติเมตร น้ำหนัก ประมาณ 30–110 กิโลกรัม ตัวผู้ ลำตัวยาว ประมาณ 140–150 เซนติเมตร น้ำหนัก ประมาณ 43 กิโลกรัม ตัวเมีย ลำตัวยาว ประมาณ 130 เซนติเมตร น้ำหนัก ประมาณ 32 กิโลกรัม หางยาวประมาณ 15–21 เซนติเมตร
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560