ลามา/Llama (Lama glama )

สิ่งที่น่าสนใจ :

ลามาเป็นสมาชิกในวงศ์อูฐที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ สมาชิกในวงศ์นี้ยังประกอบด้วย อัลพาคา (alpaca) วิคูเนีย (vicuna) และกัวนาโค (guanaco) โดยลามามีขนาดใหญ่ที่สุดของอูฐที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ และแตกต่างจากอูฐที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียและแอฟริกาที่ไม่มีโหนกบนหลัง ลามามีคอยาวและขายาว ส่วนหัวเล็กเมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย ริมฝีปากบนแยกเป็นสองส่วน ใบหูขนาดใหญ่ หางสั้น ลามาจะมีขนสีเดียวทั้งตัวเช่น น้ำตาล ดำ ขาว หรือเทา ลามาบางตัวจะมีสีเหล่านี้ผสมกัน หรือมีลายเป็นวงกลมหรือเป็นจุด โบลิเวียเป็นประเทศที่มีประชากรลามามากที่สุดในโลกประมาณ 3.1 ล้านตัว สีขนของลามาส่วนใหญ่เป็นแบบสามสีขึ้นไปที่ร้อยละ 43 สีขนแบบสีเดียวเป็นสีน้ำตาลร้อยละ 12.5 สีดำร้อยละ 11 ส่วนสีขาวร้อยละ 9.5 ลักษณะเท้าเป็นแบบสัตว์กีบเท้าคู่ มีฝ่าเท้าเป็นแผ่นหนัง ที่เป็นลักษณะเท้าที่เหมาะกับการเดินบนภูเขาที่มีก้อนหินแข็ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ลดการบาดเจ็บได้ดีกว่าเท้าแบบกีบแข็ง ลามาสามารถแบกสัมภาระได้มากถึง 60 กิโลกรัม เดินทางได้ไกลเฉลี่ยวันละ 30 กิโลเมตร สมรรถนะร่างกายในลักษณะดังกล่าวทำให้ลามาเป็นสัตว์ที่เหมาะในการเป็นสัตว์เพื่อขนสัมภาระ ในเม็ดเลือดแดงของลามามีปริมาณโปรตีนฮีโมโกลบินที่สูง เพื่อช่วยในการนำออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะเป็นกลไกของร่างกายที่จะช่วยในการดำรงในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลที่มีปริมาณของออกซิเจนน้อย

ถิ่นอาศัย :

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอยืนยันว่าบรรพบุรุษของลามาคือ กัวนาโคที่ดำรงชีวิตในป่า ในขณะที่บรรพบุรุษของอัลปาก้าคือ วิคูเนียที่เป็นสัตว์ป่าเช่นกัน โดยทั้งอูฐเมริกาใต้ป่าทั้งสองตัวจัดอยู่ในสกุล Vicugna ถิ่นที่อยู่ต้นกำเนิดของลามาอยู่ในบริเวณเทือกเขาแอนดิส โดยเฉพาะบริเวณที่ราบสูงแอนติพลาโน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของเปรูและตะวันตกของโบลิเวีย โดยที่ราบดังกล่าวป่าไม้จะเป็นไม้พุ่มต้นเตี้ยหลากชนิด และทุ่งหญ้า พื้นที่ทางตอนเหนือจะเป็นภูเขา และตอนใต้จะเป็นทะเลทราย โดยพื้นที่ที่ลามาอยู่จะไม่เกินระดับความสูง 4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปัจจุบันในทวีปอเมริกาใต้มีการนำลามาเลี้ยงเป็นสัตว์ปศุสัตว์ที่บริเวณเทือกเขาแอนดีส (ซึ่งเป็นเทือกเขาที่วางตัวขนานกับด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ เป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก พาดผ่าน 7 ประเทศตั้งแต่ เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย ชิลี และอาร์เจนตินา) แต่จะไม่พบลามาป่า รวมทั้งในพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปและออสเตรเลีย มีการใช้เป็นสัตว์แบกสัมภาระในอาร์เจนตินา เอกาดอร์ ชิลี โบลิเวียและเปรู

อาหาร :

ในถิ่นที่อยู่เดิมซึ่งเป็นที่สูงที่มีความแห้งแล้ง แหล่งพืชอาหารจะเป็นใบไม้จากต้นไม้พุ่มเตี้ยและใบหญ้า โดยน้ำที่มีในใบพืชจะเป็นแหล่งที่ระบบร่างกายของลามานำไปใช้เพื่อให้ร่างกายยังทำงานได้เป็นปกติ ในสวนสัตว์จะกินหญ้าแห้งและอาหารเม็ดสำหรับสัตว์กินพืชที่กินใบไม้เป็นอาหารหลัก

พฤติกรรม :

ลามาเป็นสัตว์สังคม ที่อยู่รวมกันเป็นฝูงโดยมีขนาดฝูงตั้งแต่ 20-100 ตัว กลุ่มย่อยจะประกอบด้วยตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูง และตัวเมียที่มีจำนวนอาจมากถึง 6 ตัว และลูก ๆ ตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูงจะทำหน้าที่ในการคุ้มครองพื้นที่ และจะพยายามขับไล่ตัวผู้ตัวอื่นที่เขามาในพื้นที่และเข้ามาใกล้ฝูงตัวเมีย ตัวผู้ที่ไม่ได้อยู่รวมกับฝูงของตัวเมียจะมารวมฝูงกัน ลามามีพฤติกรรมที่จะปกป้องสัตว์ตัวอื่น ลามาจึงถูกนำไปเป็นสัตว์ที่ปกป้องฝูงสัตว์เช่น แกะ แพะ ม้า ในฝูงนั้นจะต้องเลี้ยงแกะไว้ด้วย โดยลามาจะมีความรู้สึกว่าสัตว์ตัวอื่นๆ คือสมาชิกในครอบครัว ลามาจะมีรูปแบบการสื่อสารกับลามาตัวอื่นในหลายรูปแบบ เช่น ภาษากายที่จะแสดงลำดับในฝูงที่เหนือกว่าหรือต่ำกว่า ทิศทางการชี้ของใบหูจะแสดงถึงอารมณ์ในขณะนั้น ลามาจะมีการเปล่ง เสียงเพื่อเตือนภัยว่ามีสัตว์ผู้ล่า เมื่อมีรู้สึกรำคาญ ถูกคุกคามหรือต้องการแสดงลำดับชั้นที่สูงกว่าลามาจะใช้การถ่มน้ำลายใส่ผู้ที่รุกล้ำพื้นที่เข้ามา

อายุเฉลี่ย :

อายุยืนราว15-20 ปี

วัยเจริญพันธุ์ :

ลามาวัยหนุ่มตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูงตัวเมียที่มีจ่าฝูง และมารวมฝูงกัน เพื่อรอเวลาที่ร่างกายจะสมบูรณ์แข็งแรงและทักษะการต่อสู้เพื่อไปแย่งฝูงตัวเมียจากตัวผู้จ่าฝูงที่ครอบครองอยู่เดิม ลามาจะผสมกับ สัตว์ในตระกูลลามา (genus Lama) คืออัลปาก้าที่เป็นสัตว์ปศุสัตว์ กัวนาโคและ วิคูเนียที่เป็นอูฐอเมริกาใต้ที่ดำรงชีวิตในป่า ที่จะได้ลูกที่สามารถสืบพันธุ์ต่ออีกได้ ลามาตัวเมียที่สมบูรณ์พันธุ์จะไม่มีวงรอบการเป็นสัด โดยที่ช่วงเวลาที่มีการผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงปลายฤดูร้อนและช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง . ภายหลังการผสมพันธุ์กับตัวผู้ ร่างกายของของลามาตัวเมียจะเกิดกระบวนการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่ในเวลา 24-36 ชั่วโมงภายหลังการผสมพันธุ์ ระยะตั้งท้องประมาณ 360 วัน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยจะมีการตกลูกเกือบทุกปี ลูกลามาที่เกิดใหม่น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ช่วงอายุสมบูรณ์พันธุ์ที่ประมาณ 2 ปี

ขนาดและน้ำหนัก :

ลามาเมื่อยืนความสูงช่วงไหล่อยู่ในช่วง 91-122 เซนติเมตร และความยาวจากพื้นถึงหัวด้านบน 1.52-1.83 ความยาวลำตัว 91-150 เซนติเมตร น้ำหนัก 113.4 – 204 กิโลกรัม ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้

สถานที่ชม :


แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560