สีตัวส่วนใหญ่เป็นสีดำ โดยมีสีขาวพาดที่ใบหน้า และมีสีขาวบริเวณอกตอนล่าง และส่วนท้องทั้งหมด ขณะที่บินจะเห็นขอบปีกด้านท้ายเป็นสีขาว ปากและโหนกแข็งเป็นสีงาช้าง มีลายแต้มสีดำเล็กน้อย ตัวผู้จะมีโหนกแข็งกว่าตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียจะมีลายแต้มสีดำที่ปากและโหนกแข็งกว่าตัวผู้
กระจายพันธุ์ตั้งแต่ อินเดีย จีนตอนใต้ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ชนิดย่อย albirostris พบทั่วประเทศ ส่วนชนิดย่อย convexus พบเฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง พบในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา และป่ารุ่น ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล
นกเงือกเล็กกินผลไม้ ลูกไม้ โดยเฉพาะลูกไทร มะเดื่อ รวมทั้งแมลง และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก กิ่งก่า
พบทั่งโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือฝูงใหญ่ ในช่วงที่ต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง เช่น ต้นไทรมีผลสุก จะปรากฎร่วมกับนกเงือกอื่น ๆ นกเปล้า และนกกินผลไม้ ขณะที่บินจะเกิดเสียงอันดัง อันเนื่องมาจากปีกกระทบลำตัว แต่จะดังน้อยกว่านกเงือกอื่น ๆ บางครั้งพบบินลงมายังพื้นดินเพื่อมากินผลไม้ที่หล่นจากต้น มีพฤติกรรมการอาบฝุ่นด้วย แต่ไม่พบบ่อยนัก ชอบร้องเสียงดัง "แก๊ก แก๊ก แก๊ก"
นกประจำถิ่นที่พบได้น้อยทั่วทุกภาค จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562
นกชนิดนี้ผสมพันธุ์ช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนมกราคม - พฤษภาคม ทำรังอยู่ในโพรงไม้ใหญ่ วางไข่ครั้งละ 2 - 3 ฟอง ในระยะฟักไข่ แม่นกจะเข้าไปอยู่ในรังก่อนที่พ่อนกจะปิดปากรัง เหลือช่องเล็ก ๆ เอาไว้ให้พ่อนกป้อนอาหาร และให้แม่นกและลูก ๆ ถ่ายมูล แม่นกจะอยู่ในรังจนกว่าลูกนกเจริญเติบโตจนพร้อมบิน แม่นกจึงกะเทาะปากโพรงเพื่อออกจากรังพร้อมลูกๆของมัน
ลำตัวยาว 70 เซนติเมตร จัดเป็นนกเงือกที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560